Real estate & condomanager community

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เจ้าของโครงการ : เจ้าของร่วมผู้ทรงอิทธิพล (4)





ความรู้สึกตกค้างที่ว่านี้ได้ส่งผลมาถึงบริษัทที่เข้ามารับบริหารอย่างผมด้วย ลูกบ้านที่เสียความรู้สึกเขาไม่รับรู้หรือไม่เข้าใจหรอกว่า บริษัทบริหารกับเจ้าของโครงการไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางนิตินัยโดยตรง เจ้าของโครงการก็มีฐานะเป็นเจ้าของร่วม บริษัทบริหารก็เป็นคู่สัญญาของนิติบุคคล พูดง่าย ๆ คือเป็นลูกจ้างของนิติบุคคล เขาเชื่อและเขาเข้าใจว่า บริษัทบริหารก็คือตัวแทนของเจ้าของโครงการที่ถูกส่งเข้ามาเพื่อเป็นหนังหน้าไฟเอาไว้รับหน้ากับลูกบ้าน บางคนที่เขามีอคติกับเจ้าของโครงการอยู่แล้ว เขาไม่สนใจเลยว่าคุณเป็นใครมาจากไหน คุณมานั่งตรงนี้ฉันต้องอัดคุณไว้ก่อนเพราะพวกคุณไม่เคยดูแลฉันเลย

ในช่วงที่ผมเข้ามาบริหารเป็นช่วงที่เพิ่งจะมีการประชุมใหญ่ครั้งแรกเสร็จไปไม่นาน เพื่อรับรองงบดุลและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ที่มีตัวแทนจากฝ่ายลูกบ้านเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย คิดดูนะครับบริหารมาร่วม 10 ปี เพิ่งจะมีการจัดประชุมครั้งแรกอย่างที่ว่า นี่คือเหตุผลที่กฎหมายอาคารชุดสมัยใหม่เขาถึงกำหนดให้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนอาคารชุดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและอื่น ๆ (มาตรา 42) เพื่อให้มีตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาร่วมตรวจสอบถ่วงดุลในการบริหารซึ่งกันและกัน

แล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมาคอนโดหลังนี้มีคณะกรรมการหรือเปล่า มีครับ ก็คือบรรดาผู้จัดการผู้อำนวยการฝ่ายต่าง ๆ ของบริษัทเจ้าของโครงการนั่นแหละครับ ก็มานั่งเป็นกรรมการนิติบุคคลเอง ประเภทพูดเอง เออเอง เงินกระเป๋าซ้าย จ่ายเข้ากระเป๋าขวา สุดท้ายเมื่อทนรับแรงกดดันไม่ไหวก็ถึงเวลาที่บริษัทเจ้าของโครงการจะต้องลุกออกไป แล้วจ้างบริษัทบริหารเข้ามาเป็นหนังหน้าไฟแทน(บริษัทก่อนหน้าบริษัทผม) แล้วก็ติดค้างค่าบริหารเขาจนเขาต้องขอถอนตัวอย่างที่เล่าข้างต้น

เมื่อถึงเวลาลุกออกไปสิ่งที่พวกเขาทำทิ้งทวนไว้ก็คือ ใช้อำนาจความเป็นกรรมการของพวกเขา ลงมติอนุมัติให้นิติบุคคลเอาค่าส่วนกลางที่เจ้าของโครงการ(ซึ่งก็คือพวกเขาเอง)ค้างชำระมาหักกลบ ลบหนี้กับค่าบริหารที่นิติบุคคลค้างชำระเจ้าของโครงการ (ก็พวกเขาเองอีกแหละ ) ทำไปทำมา นิติบุคคลยังเป็นหนี้บริษัทเจ้าของโครงการอีกร่วมล้าน คือระหว่าที่เขาเข้ามาบริหารเขาไม่ได้มาบริหารฟรี ๆ นะครับ เขาคิดค่าบริหารด้วยเดือนละเป็นแสน

ระหว่างที่เขาบริหาร 10 ปี เขาไม่เคยจ่ายค่าส่วนกลางเลย แต่พอจะลุกออกไปเขาก็เอาค่าบริหาร(ซึ่งนิติบุคคลไม่เคยจ่ายให้เขา)มาหักล้างกับหนี้ค่าส่วนกลางของเขา(ซึ่งเขาก็ไม่เคยจ่ายให้นิติบุคคลเลยเช่นกัน) ประเด็นคือคุณมีสิทธิคิดค่าบริหารครับแต่ใครเป็นคนกำหนดครับ การที่คุณเข้ามาบริหารนิติบุคคล คุณได้รับมติจากใครหรือกรรมการชุดใดครับ ใครร้องขอให้เข้ามาบริหารครับ ไม่มีกรรมการคอนโดที่ไหนในโลกทำได้แบบนี้นอกจากเจ้าของร่วมผู้ทรงอิทธิพลกลุ่มนี้

แล้วระหว่างที่เขาบริหาร เขาไม่จ่ายค่าส่วนกลางแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายเพราะเขาถือครองกรรมสิทธิ์เกิน 50% ค่าส่วนกลางส่วนใหญ่ต้องเป็นของเขา วิธีก็คือ เขาให้นิติบุคคลทำเรื่องยืมเงิน บริษัทของเขาเอามาสำรองจ่ายครับ จ่ายไปจ่ายมากลายเป็นว่าเคลียร์บัญชีกันแล้วเขาไม่ต้องจ่ายเงินกองทุนครับ เพราะเงินที่นิติบุคคล(โดยเขา) ขอยืมจากบริษัทเขาเอามาใช้จ่าย สุดท้ายแล้วก็เอามาหักล้างกับเงินกองทุนในส่วนที่เขาต้องจ่าย เมื่อผมได้เข้ามารับงานบริหาร หลังจากดูโครงสร้างบัญชีแล้วถามเขาว่า เงินกองทุนอยู่ไหน เขาตอบง่าย ๆ ครับว่า “หมด”

เหตุที่หมดเพราะว่า ระหว่างที่เขาบริหารมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเอาเงินกองทุนไปใช้ คณะกรรมการ(พวกเขาเอง) จึงมีมติอนุมัติให้เอาเงินกองทุนไปใช้ เผลอ ๆ นิติบุคคลจะต้องจ่ายคืน(เป็นหนี้)เขาด้วยซ้ำไป

ภายหลังเมื่อมีการเร่งรัดจัดเก็บก็มีการเรียกเก็บเงินเพิ่ม (ค่าปรับชำระล่าช้า) เดือนละ 1% คือปีละไม่เกิน 12%ของยอดที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่คิดทบต้น(มาตรา 18/1) เจ้าของโครงการในฐานะเจ้าของร่วมเมื่อค้างชำระระบบบัญชีก็ต้องคำนวณค่าปรับแล้วระบุไปในใบแจ้งหนี้ เขาให้เจ้าหน้าที่เขาแจ้งมาว่าไง ทราบมั้ยครับ

เขาบอกว่าถ้าคุณคิดค่าปรับเรา เราก็จะคิดดอกเบี้ยเงินที่คุณ(นิติบุคคล)ค้างชำระเรา(เป็นหนี้เขา) ในช่วงที่เขาเข้ามาบริหาร

นี่แหละครับ เจ้าของร่วมผู้ทรงอิทธิพล

ผมก็ตอบไปว่ากฎหมายบังคับใช้กับเจ้าของร่วมทุกรายกฎหมายไม่มีข้อกำหนด ยกเว้นคิดค่าปรับกับเจ้าของโครงการ ถ้าคุณจะคิดดอกเบี้ยคุณก็แจ้งยอด แจ้งความจำนงของคุณมา ผมจะได้เอาเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการ ถ้ากรรมการสรุปไม่ได้ก็จะไปขอมติในที่ประชุมใหญ่ เขาก็เงียบไป สุดท้ายประธานกรรมการ(ลูกบ้าน)ก็หาทางออกโดยการให้แจ้งหนี้พร้อมค่าปรับให้กับเจ้าของโครงการตามปกติ แล้วให้เจ้าของโครงการหายอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยมา Balance บัญชีกัน


SPECIAL REQUESTED ! ! !

ก่อนอ่านต่อหน้าอื่น อย่าลืมคลิกลิ้งค์โฆษณาหน้านี้ เพื่อสนับสนุนสปอนด์เซอร์บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น: