Real estate & condomanager community

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เจ้าของโครงการ : เจ้าของร่วมผู้ทรงอิทธิพล (5)



ช่วงท้าย ๆ ของผมที่บริหารคอนโดหลังนี้ ได้มีการจัดเตรียมงบประมาณของปีถัดไป เพื่อไปขออนุมัติประชุมใหญ่สามัญประจำปี ประเด็นที่พิจารณากันอย่างหนักหน่วงก็คือจะมีการเพิ่มอัตราจัดเก็บค่าส่วนกลาง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกตารางเมตรละ 3.50 บาท เพราะจัดเก็บอัตราเดิมมาร่วม 10 ปีทำให้ไม่พอจ่าย ฟังดูเหมือนไม่ได้เยอะแยะมากมายอะไรเลยนะครับ แต่สำหรับเจ้าของโครงการที่ถือครองกรรมสิทธิ์มากกว่า 50% นั้น เดือนหนึ่งเพิ่มขึ้นเป็นแสนเลยทีเดียว ที่นี้ก็เครียดซิครับ ขนาดอัตราเดิมยังไม่ค่อยจะมีจ่ายแล้วอัตราใหม่จะทำอย่างไร

กรรมการฝ่ายลูกบ้านก็พยายามเร่งหาข้อสรุปให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่กรรมการฝ่ายเจ้าของโครงการก็พยายามดังเกมส์ยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด โดยการล้มประชุมบ้าง อ้างว่ายังไม่ได้นำเสนอเจ้าของบริษัทบ้าง จนล่วงเลยออกไป 2- 3เดือน จนประธานกรรมการได้มาเปรย ๆ กับผมว่า สงสัยกรรมการฝ่ายโครงการไม่ได้นำเรื่องเสนอเจ้าของบริษัท ถ้าประชุมครั้งหน้ายังไม่มีข้อสรุป ท่านจะเข้าไปคุยกับเจ้าของโครงการเอง ในฐานะลูกบ้านคนหนึ่ง เพื่อที่จะชี้แจงปัญหาที่แท้จริงให้เข้าใจถึงความจำเป็น

และโดยที่การประชุมในช่วงหลัง ๆ จะมีงานที่ต้องติดตามจาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ของบริษัทเจ้าของโครงการที่ค้างคาต่อเนื่องกันมามาหลายเรื่อง เมื่อคณะกรรมการสอบถามความคืบหน้ามาที่ผม ผมก็แจ้งว่าทำหนังสือติดตามสอบถามไปแล้ว แต่ไม่มีใครตอบกลับมา นี่ไงครับ ที่ลูกบ้านเขามีความรู้สึกว่า บริษัทเจ้าของโครงการเย็นชา ถามอะไร ร้องเรียนอะไรก็เงียบ จนผมได้มาเจอกับตัวเองนี่แหละ ถึงซึ้งใจว่ามันเป็นแบบนี้นี่เอง

กรรมการฝ่ายเจ้าของโครงการก็ตำหนิผมว่า คุณเอาแต่ส่งหนังสือทวงถาม แล้วเขาไม่ตอบมาคุณก็เฉย ผมยืนยันว่าผมไม่ได้เฉย ผมโทรตามเขาก็บอกจะดูให้ แล้วก็หายเงียบไป เขาบอกว่าถ้าเขาเงียบคุณก็ต้องเข้าไปคุย นั่งคุยกันเลยอย่าเอาแต่ส่งหนังสือ เราไม่ได้บริหารราชการ เราบริหารอาคารชุด แน่ะ! โดนอัดเข้าให้อีก

แล้วผมก็นัดหมายเข้าไปคุยกับผู้จัดการนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทเจ้าของโครงการ หลังจากพูดคุยเคลียร์เรื่องานที่คั่งค้างกันหมดแล้ว โดยที่เจตนาดี ตามหลักของการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารคอนโด มีข่าวสารความเคลื่อนไหวใด ๆ เราเป็นฐานะคนกลางก็ต้องรายงานให้ท่านทราบ ผมจึงแจ้งเรื่องที่ท่านประธานได้คุยกับผมว่า ถ้าเรื่องอัตราส่วนกลางที่จะจัดเก็บเพิ่ม ไม่มีความคืบหน้าในการประชุมกรรมการครั้งต่อไป ประธานฯจะขอให้ผมช่วยประสานงานนัดหมายเพื่อขอพบเจ้าของบริษัทจะได้นำเสนอเรื่องนี้ด้วยตัวเองเพราะท่านประธานฯเชื่อว่า กรรมการฝ่ายเจ้าของโครงการไม่นำเสนอ ท่านผู้จัดการนิติฯ ก็ยืนยันว่าเสนอแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาอยู่ แล้วก็ร่ำลาจากกันมาด้วยดี

หลังจากนั้นมาอีกประมาณ 2- 3 วันผมก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปทำหน้าที่ผู้จัดการคอนโดอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากขาดผู้จัดการมาแล้ว 2 อาทิตย์ ก็ถือว่าเป็นการโยกย้ายโดยมีความก้าวหน้าในระดับที่น่าพอใจ แต่ในที่สุดความจริงก็ถูกเปิดเผยโดยผู้จัดการเขตคนที่ดูแลหน่วยงานใหม่ที่ผมไปประจำการว่า ท่านผู้จัดการนิติบุคคลคอนโดเดิมของผม เป็นคนขอให้บริษัทย้ายผมออกจากคอนโดของเขา เหตุผลเพราะผมมีพฤติกรรมฝักใฝ่เข้าข้างกรรมการฝ่ายลูกบ้านมากเกินไป ประจวบเหมาะกับที่หน่วยงานใหม่ขาดผู้จัดการพอดีก็เลยย้ายผมออกมา เรื่องทั้งหมดนี้ผู้จัดการเขตคนที่ดูแลหน่วยงานเดิมของผมไม่ทราบเรื่องระแคะระคายเลยนะครับ ทราบแต่เพียงว่าให้ย้ายไปเพราะขาดผู้จัดการ แต่ไม่ทราบว่าย้ายเพราะโดนเด้งฟ้าผ่า!

จากนั้นปฏิบัติการลับ ลวง พราง ก็เริ่มขึ้น เมื่อมีการย้ายด่วนแบบนี้ ในขณะที่การประชุมกรรมการนัดต่อไปก็ใกล้กำหนดเข้ามา แล้วพอประชุมผู้จัดการคนเดิมก็หายไป กรรมการฝ่ายลูกบ้านต้องสอบถามแน่นอน ทุกฝ่ายในบริษัทผมจึงเตี๊ยมกันว่า ให้บอกว่าผมลาออก ได้งานใหม่ จนกระทั่งท่านประธานถึงกับโทรมาสอบถามผมด้วยตัวเอง ผมก็ต้องบอกไปตามที่เตี๊ยมกันคือ ผมลาออก ผมได้งานใหม่ อาชีพนี้ขาดแคลนบุคลากร ผมไปสมัครปุ๊ป เขารับปั๊บ ค่าตอบแทนดีกว่า เขาให้เริ่มงานเลย ผมเห็นเป็นโอกาสดีก็เลยตัดสินใจลาออกฉุกเฉินเลย ก็ว่ากันไปอะไรประมาณนั้น

นี่แหละครับ เจ้าของโครงการ เจ้าของร่วมผู้ทรงอิทธิพล เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเราก็ต้องจำยอมปฏิบัติการลับ ลวง พรางต่อไป แล้วก็หวังว่า ท่านประธานฯ จะไม่มาอ่านเจอบทความนี้เข้านะครับ

สวัสดีครับ
ผู้จัดการคอนโด
22 พ.ค. 2552


SPECIAL REQUESTED ! ! !

ก่อนอ่านต่อหน้าอื่น อย่าลืมคลิกลิ้งค์โฆษณาหน้านี้ เพื่อสนับสนุนสปอนด์เซอร์บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

7 ความคิดเห็น:

ohoaha1981 กล่าวว่า...

เข้ามาอ่านตอนมีเรื่องโดนใจพอดีเลยค่ะ
ตอนนี้ที่คอนโดกำลังเข้าสู่ภาวะโอนหน้าที่ต่างๆจากเจ้าของคอนโดไปยังกรรมการนิติฯ ซึ่งได้ตั้งเวลาโอนเอาไว้ภายในช่วงเดือนนี้
โดยทางกรรมการได้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่าบัญชีก่อนการโอนต้องเรียบร้อยและงานที่ค้างคาต้องจัดการให้เสร็จ (กลัวว่าหากโอนมาเป็นนิติฯแล้ว จะโดนผลักให้รับผิดชอบเอง ซึ่งนั่นก็หมายถึงเงินค่าส่วนกลางของลูกบ้าน) ตอนนี้ยังไม่มีวี่แววจากเจ้าของโครงการเลยว่าพร้อมโอนหรือยัง บัญชีก็ยังไม่เห็น แบบนี้ความทำอย่างไรดีคะ เพราะจริงๆทางนิติฯต้องการให้โอนมาเพื่อให้แน่ใจว่าเงินทุกบาท(ที่อยู่ในมือโครงการ) จะได้รับมาครบถ้วน บอกตรงๆว่ากลัวเงินจะมาใหม่หมด เพราะเจ้าของโครงการเองก็ทำตัวตุกติกหลายรอบแล้ว แต่โอนมาก็กลัวปัญหาข้างต้นที่กล่าวไป
จึงอยากปรึกษาคุณ condomanager ว่ากรณีเช่นนี้ควรทำอย่างไรดีคะ

Condomanager กล่าวว่า...

ก่อนจะตอบขอข้อมูลเพิ่มเติมนิดนึงนะครับ

1.คอนโดของคุณ จดทะเบียนนิติบุคคลเสร็จนานแล้วหรือยัง กรรมการนิติฯที่ว่า เป็นกรรมการที่มาจากการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก ใช่หรือเปล่า?

2. สัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิระหว่างเจ้าของโครงการกับลูกบ้าน เป็นอย่างไร? ( เท่าไรต่อเท่าไร)

3. ที่ผ่านมาเจ้าของโครงการบริหารมายาวนานแค่ไหน ? มีบทเฉพาะกาลกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการเรื่องค่าใช่จ่ายอย่างไรบ้าง ?

4. ที่ผ่านมามีการแต่งตั้งหรือจัดจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีบ้างหรือเปล่า ?

5. ปัจจุบันใครเป็นผู้จัดการนิติบุคคล ?

เดี๋ยวได้ข้อมูลพวกนี้แล้วจะกลับมาตอบอีกทีนะครับ

ohoaha1981 กล่าวว่า...

1.จดทะเบียน 08/08/2551 กรรมการฯได้จากการประชุมใหญ่ค่ะ
2.(อันนี้ถามเพื่อนมา)พื้นที่ขาย 1,749.49 ตร.ม ณ ปัจจุบันที่โอนกรรมสิทธิ์ แล้ว 1,442.91(50ห้อง) ดังนั้นพื้นที่เจ้าของโครงการฯครอบครอง 307.04 (9 ห้อง) คิดตามอัตราส่วน(พื้นที่ที่เจ้าของโครงการฯครอบครอง) 17.56% เจ้าของร่วม 82.48%
3.คิดว่าตั้งแต่มีการจดท เบียนนิติบุคคล แต่เราเริ่มโอนฯห้องแรกเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 51
4.ผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ในระหว่างจัดจ้างค่ะ
5.ผู้จัดการนิติฯไม่ใช่เจ้าของโครงการแต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าของโครงการพอควร

ขอบคุณล่วงหน้ามากๆค่ะ

Condomanager กล่าวว่า...

เอาอย่างง่ายๆที่สุดนะครับ ตามกฎหมายอาคารชุดบอกว่า ผู้จัดการนิติบุคคล ต้องติดประกาศรายรับ-รายจ่ายของเดือนนี้ ภายในวันที่ไม่เกิน 15 ของเดือนถัดไป ( คือติดประกาศเพื่อทราบโดยทั่วกัน ) ถ้าไม่ติดประกาศ ก็จะมีความผิดปรับ ไม่เกิน 50,000.- บาท และวันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง ( มาตรา 68 )

เหตุผลที่ถามว่า ใครเป็นผู้จัดการนิติก็เพราะว่า ถ้าเป็นกลุ่มลูกบ้าน แล้วไม่แสดงงบรายรับ-รายจ่ายที่ว่า ก็จะได้กระซิบเตือน แต่ถ้าไม่ใช่ลูกบ้าน เป็นนอมินีของใครก็ไม่รู้ ขอแนะนำให้ตะโกนดังๆ (โวยวาย) ว่า "ผู้จัดการนิติบุคคลทำผิดกฎหมายคอนโด ต้องถอดถอน" เพราะถ้าผู้จัดการนิติบุคคลยังเป็นคนของเจ้าของโครงการ มันก็คือนอมินีดีๆนี่เอง

แต่คอนโดของคุณดีกว่าคอนโดที่ผมเล่าให้ฟังก็คือ ลูกบ้านถือครองกรมมสิทธิเสียงส่วนใหญ่ (รวมกันเกิน 50% ) ผมไม่แน่ใจว่า ปัจจุบันนี้เจ้าของโครงการยังบริหารอยู่หรือเปล่า แต่เดาจากรูปการณ์แล้วน่าจะใช่

ผมจะลองวิเคราะห์ตามข้อมูลที่คุณให้มา ว่าน่าจะเป็นแบบนี้ (อาจจะถูกหรือผิด ต้องขออภัยล่วงหน้า )

คอนโดคุณจดทะเบียน เดือน 8/51 เพราะฉะนั้น ก็น่าจะประชุมใหญ่ครั้งแรก เมื่อประมาณ เดือน ก.พ. 52 ที่ผ่านมา ( ภายใน 6 เดือน ตามกฎหมายกำหนด ( มาตรา 42) ) ถ้าการประชุมใหญ่ครั้งแรกที่ผ่านมา มีการรับรอง ผจก. นิติฯ คนที่ว่านี้ ก็คงต้องยอมรับสภาพไปก่อน

ทีนี้ถ้าคอนโดของคุณซีเรียสมาก ( หมายถึงเจ้าของโครงการตุกติกมากๆ มีลับลมคมในแบบประหลาดๆ ท่าทางไม่น่าไว้วางใจ) ผมขอแนะนำให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญครับ เพราะว่าถ้าจะรอให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยสมมุติว่า รอบบัญชีของคอนโดของคุณเริ่มต้น-สิ้นสุด ม.ค. - ธ.ค. ของทุกปี ตามกฎหมายแล้วคุณต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายใน 120 วัน นับจากสิ้นปีบัญชี (มาตรา 42/1) เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ ( รับรอง )งบดุล ฯลฯ ถ้าเป็นแบบนี้กว่าลูกบ้านจะประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็ต้องโน่นเลยละครับ ประมาณเดือนเมษายน ของปีหน้าเลยทีเดียว ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น ความเสียหายต่างๆก็อาจจะบานปลายออกไป

การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี ต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมนะครับ (มาตรา 42/1 (3) ) จะใช้มติจากที่ประชุมคณะกรรมการไม่ได้นะครับ หลายคอนโดอาจจะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้าไม่มีคนรู้กฎหมายคอนโดอย่างจริงจังมาคัดค้านก็รอดตัวไป แต่ถ้ามีลูกบ้านที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะกรรมการรู้แล้วอาจร้องเรียนกรมที่ดินได้นะครับ ข้อหาละเมิด พรบ. อาคารชุด ซึ่งจะส่งผลให้คณะกรรมการถูกถอดถอนได้
เสียชื่อ เสียประวัติ ทำให้กรรมการดีๆ หลายคนต้องหมดโอกาสมาทำประโยชน์ให้ส่วนรวม เพราะเป็นลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งของกรรมการครับ ( มาตรา 37/2 (3) )

โดยที่คอนโดของคุณมีเจ้าของร่วมถือครองกรรมสิทธิ์ข้างมาก น่าจะดำเนินการให้มีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อ
1.ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือบริหารคอนโด
2.ถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคล
3.แต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคล
4.แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี
5.ขออนุมัติงบประมาณปี ปัจจุบัน ( เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาหรือบริษัทบริหารคอนโด และผู้ตรวจสอบบัญชี )

ส่วนวิธีการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งกำหนดผู้มีสิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ดังนี้ ( มาตรา 42/2)
1. ผู้จัดการนิติบุคคล คือ ทำหนังสือแจ้งไปที่ผู้จัดการนิติบุคคล ว่าเรามีความจำนงขอให้ท่านใช้อำนาจของท่านเรียกประชุมวิสามัญให้เราที
2. ถ้าท่าน ผจก. นิติฯ ไม่ยอมทำ ( เพราะรู้ว่าทำแล้วจะโดนปลด )ก็ให้ทำหนังสือไปที่คณะกรรมการ ( โดยการล๊อบบี้กับกรรมการฝ่ายลูกบ้าน) เพื่อขอให้ลงมติเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ ( โดยต้องมีมติเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมกรรมการ(ที่ครบองค์ประชุม))
3. ถ้าล๊อบบี้กรรมการไม่สำเร็จก็ให้ล่ารายชื่อเจ้าของร่วมด้วยกันให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% ของทั้งหมด เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการขอให้เปิด กรรมการต้องเปิดประชุมภายใน 15 วัน ไม่มีสิทธิอิดออด ถ้ากรรมการไม่ยอมจัดก็ให้กลุ่มลูกบ้านที่มีรายชื่อตามจำนวนดังกล่าว จัดประชุมเอง โดยแต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุม

ทั้งหมดที่ว่ามานี้หมายถึงว่า เจ้าของโครงการไม่ไหวจริงๆ แล้วนะครับ แต่ถ้าคอนโดของคุณปัญหาไม่รุนแรงมากก็ขอให้ใช้วิธีพุดคุยกันดีกว่าครับ

ohoaha1981 กล่าวว่า...

โอ้ว เป็นคำแนะนำที่ดีมากเลยค่ะ (ไม่คิดว่าสามารถใช้กฎหมายช่วยได้ด้วย) ช่วงนี้ก็พยายามคุยกับคณะกรรมการฯอยู่เอาไว้จะลองนำคำแนะนำไปเสนอแนะนะคะ
ส่วนเรื่องผจก.คงไม่รุนแรงแต่ยังไงก็ต้องปลดเพราะทำงานไม่คุ้มเงินเดือนเอาซะเลย เฮ้อ -_-"

ohoaha1981 กล่าวว่า...

คุณ condomanager คะ เพื่อนฝากถามมาค่ะว่า เราสามารถเปลี่ยนคณะกรรมการนิติฯได้ด้วยเหตุผลใดบ้าง ตอนนี้ลงความเห็นกันว่าคงต้องปลดเจ้าของโครงการออกจากคณะกรรมการฯให้ได้ แต่ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรน่ะค่ะ

Condomanager กล่าวว่า...

เนื่องจากเกรงว่าเนื้อหาจะยาวเกินหน้าโควต้า ก็เลยขอยกยอดไปตอบในชื่อบทความว่า "สามารถเปลี่ยนคณะกรรมการนิติฯ ด้วยเหตุผลใดบ้าง" เชิญติดตามคำตอบนะครับ