Real estate & condomanager community

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ฝ่ายขายคอนโด : ผู้มีบารมีเหนือข้อบังคับ (3)

อีกรายหนึ่ง เกิดที่คอนโดอีกแห่ง ก็คือคอนโดที่ผมเล่าให้ฟังในตอนเจ้าของร่วมผู้ทรงอิทธิพลนั่นแหละครับ โดยที่บริษัทเจ้าของโครงการเขาเข้ามาบริหารนิติบุคคลเองเป็นเวลาร่วม 10 ปี แล้วเขาก็จัดโครงสร้างองค์กรบริหารคอนโดแบบพิเศษ คือให้ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทลูกที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับโครงการนี้ ( คือบริษัทแม่เป็นผู้ลงทุนสร้างคอนโดขาย สร้างโครงการไหนเขาก็จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อรองรับโครงการนั้น โดยเหตุผลทางบัญชี ภาษี และอื่นๆ ) ให้มีอำนาจควบคุมการบริหารงานนิติบุคคลด้วย พูดง่ายๆก็คือ ดูแลทั้งฝ่ายขายและฝ่ายจัดการอาคาร ซึ่งแน่นอนว่า she มีอำนาจควบคุมผู้จัดการคอนโดด้วย

จากการที่โครงสร้างขององค์กรเป็นแบบนี้ ทำให้ she ที่มีอำนาจควบคุมทุกฝ่ายในคอนโดจึงมีบุคลิกแบบว่า ใหญ่คับตึกเลยทีเดียว โดยที่ she เคยชินกับการมีอำนาจสั่งการแต่เพียงผู้เดียวในคอนโด ประกอบกับผมเข้าใจเอาว่า she ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องโครงสร้างของนิติบุคคลในเรื่องทรัพย์ส่วนกลาง พื้นที่ส่วนกลาง ทรัพย์ส่วนบุคคลและพื้นที่ส่วนบุคคลเท่าที่ควร เพราะ she เติบโตมาจากสายงานขาย พอผู้ใหญ่ให้อำนาจ she ก็ใช้อำนาจโดยไม่เข้าใจขอบเขต พนักงานทั้งฝ่ายขายและฝ่ายจัดการก็เป็น staff ในบริษัทของshe เกือบทั้งหมดพอผมเข้ามาบริหารคอนโด ผมกับ she ก็เลยเกิด conflict กันบ่อยๆ

จนช่วงหลังๆ ผมมานั่งคิดดูอยู่ว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ที่จะต้องหาทางอธิบายให้ she เข้าใจโครงสร้างการบริหารงานของนิติบุคคล จะให้ไปนั่งสอนนั่งอธิบายกันตัวต่อตัวคงไม่ work แน่ จึงใช้กุศโลบายโดยการทำผังโครงสร้างองค์กรนิติบุคคลไปติดไว้ที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ ประมาณว่าทำเป็นต้องการอธิบายให้ลูกบ้านเข้าใจ แต่จริงๆแล้วเจตนาคือต้องการกระทบชิ่งไปถึง she โดยตรง ซึ่งก็พอจะได้ผลอยู่บ้าง ระยะหลังๆ she ก็มีพฤติกรรมที่เพลาๆ ลง ตัวที่ใหญ่คับคอนโดก็เริ่มแฟบลงบ้าง แต่กว่าจะแฟบลงได้เล่นเอาผมเหนื่อยเลยก็แล้วกัน

ผมกับทีมงานเคยนั่งวิเคราะห์กันจนได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้ she มีพฤติกรรมแบบนั้น จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจด้วยซ้ำไป คิดดู she อยู่ตรงนี้เคยมีอำนาจครอบคลุมทุกอย่างมานานหลายปี จนเจ้าของโครงการตัดสินใจจ้างบริษัทบริหารคอนโดเข้ามา ( บริษัทก่อนหน้าผม ) she ยังไม่ค่อยรู้สึกเท่าไร จนมีการจัดประชุมใหญ่แล้วแต่งตั้งตัวแทนจากเจ้าของร่วมเข้ามาเป็นกรรมการเท่านั้นแหละ อำนาจการบริหารจัดการคอนโดของ she จึงสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิงในทางนิตินัย แต่โดยทางพฤตินัยแล้ว she ก็ยังไม่ยอมลดราวาศอกในการใช้อำนาจลง เพราะความไม่เข้าใจของ she นั่นเอง

คอนโดหลังที่ว่านี้เจ้าของโครงการเขาถือครองกรรมสิทธิ์เกินกว่า 50% เพราะทำโครงการตอนฟองสบู่ใกล้แตก ทำเสร็จปุ๊บก็แตกปั๊บอย่างที่เคยเล่า ห้องในกรรมสิทธิ์ของเขาก็ถูกธนาคารเจ้าหนี้ยึด แล้วโอนสิทธิ์เจ้าหนี้ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ในเครือดูแล ดังนั้น เขาเองก็ไม่อยากทำนิติกรรม จำหน่าย จ่ายโอน เพราะเขาขายได้กี่ห้องก็ต้องเอาตัวเลขที่ขายได้ไปตัดหนี้ที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ก่อน จนกว่าจะครอบคลุมมูลหนี้ที่ติดค้างกัน เขาถึงจะมีสิทธิ์มีรายได้เป็นของตนเอง แล้วลองคิดดูถ้าเป็นเรา หมายถึงถ้าเราเป็น she ต้องรับผิดชอบยอดขายแล้วขายไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขเจ้าหนี้ก็ต้องเครียดบ้างเป็นธรรมดา she ก็เลยต้องระบายความเครียดมาที่ฝ่ายจัดการ ( ตามเคย ) ไง

ชั้นล่างของคอนโดเป็นห้องชุดที่ออกแบบไว้ให้ใช้ประโยชน์เป็นสำนักงานหรือร้านค้า ซึ่งก็ว่างอยู่หลายห้อง เจ้าของโครงการก็ถือครองกรรมสิทธิ์อยู่หลายห้องพอสมควร เวลามีลูกค้ามาติดต่อห้องเพื่อเช่า หลังจากตกลงทำสัญญากันแล้ว ถ้าลูกค้าต้องการเช่าตามสภาพไม่ตกแต่งเพิ่มเติม ความเคยชินที่ she เคยทำตลอดมาก็คือ สั่งให้ช่างอาคารเข้าไปตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในห้อง อุปกรณ์ตัวไหนไม่มีให้บอก she เดี๋ยว she จะซื้อมาให้ แล้วก็ให้ช่างอาคารติดตั้งแก้ไขซ่อมแซมให้ด้วย เสร็จแล้วก็สั่งแม่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานกินเงินเดือนของนิติบุคคล เข้าไปทำความสะอาด เพื่อส่งมอบพื้นที่เช่าให้กับลูกค้าของ she

ผมเห็นแล้วจึงทักท้วงไปว่า แบบนี้ไม่ถูกนะ คุณเอาพนักงานของนิติไปทำงานส่วนตัวให้บริษัทคุณ แบบนี้คุณได้ประโยชน์ นิติบุคคลจ่ายเงินเดือนพนักงานแต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย she ก็แย้งเหมือนกับ she อีกคนที่เล่าให้ฟังตอนต้นว่า เดือนหนึ่ง she จ่ายค่าส่วนกลางตั้งหลายแสน ทำไม she จะขอใช้บริการจากนิติบุคคลบ้างไม่ได้ ผมก็แย้งไปตามหลักการว่า คุณจ่ายค่าส่วนกลาง ไม่ได้จ่ายค่าส่วนตัวนี่ ถึงจะเอาพนักงานของนิติไปทำงานส่วนตัวให้คุณ

ตอนหลังเรื่องนี้ทราบไปถึงท่านประธานกรรมการ ประธานฯบอกผมเลยว่า พนักงานนิติบุคคลไม่ใช่เบ๊ ใครนึกอยากจะใช้อะไรก็ใช้ อย่างนี้อีกหน่อยลูกบ้านคนไหนอยากให้แม่บ้านไปทำความสะอาดในห้อง แม่บ้านต้องไปทำให้ทุกห้องอย่างนั้นหรือ ว่าแล้วก็ให้ผมทำประกาศในทำนองว่า ช่างและแม่บ้านมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ส่วนกลางเป็นหลัก ตามเจตนารมณ์ของลูกบ้านที่ช่วยกันแชร์ค่าส่วนกลางให้นิติบุคคล ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน จะเข้าบรรเทาปัญหาในเบื้องต้นให้ หากลูกบ้านท่านใดต้องการว่าจ้างส่วนตัว ก็ขอให้ทำนอกเวลางาน

ได้ผลครับ ต่อมาพฤติกรรมของ she ก็ดีขึ้น เวลาต้องทำความสะอาดห้องเพื่อส่งมอบพื้นที่เช่าให้ลูกค้า she ก็จะจ้างแม่บ้านของนิติเป็นการส่วนตัวนอกเวลางาน ส่วนเครื่องขัดทำความสะอาดพื้นของนิติ ถ้าจะต้องใช้ก็ต้องจ่ายค่าเช่าให้นิติ คิดเหมารวมครั้งละ 200 บาท ออกใบเสร็จให้ด้วย


SPECIAL REQUESTED ! ! !

ก่อนอ่านต่อหน้าอื่น อย่าลืมคลิกลิ้งค์โฆษณาหน้านี้ เพื่อสนับสนุนสปอนด์เซอร์บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น: