Real estate & condomanager community

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เจ้าของโครงการ : เจ้าของร่วมผู้ทรงอิทธิพล (2)




คอนโดหลายโครงการที่เปิดตัวทำโครงการช่วงคาบเกี่ยวประมาณปี 2540 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก ธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศไทยล้มระเนระนาดระบาดไปครึ่งค่อนโลก ทำให้บางโครงการที่เจอแจ๊คพ็อตช่วงนี้พอดี เกิดสภาวะซื้อไม่ได้ขายไม่ออก ในที่สุดห้องชุดในส่วนที่เจ้าของโครงการถือครองกรรมสิทธิ์ก็ถูกสถาบันการเงินผู้สนับสนุนโครงการยึด แล้วขายต่อไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ในเครือข่าย หาช่องทางขายทอดตลาดต่อไป


บางโครงการเจ้าของโครงการถือครองกรรมสิทธิ์มากว่า 50% มาตั้งแต่ปี2540จนถึงปัจจุบัน จำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ว่า แล้วกลายเป็นว่าเจ้าของโครงการเองนี่แหละ ที่ค้างจ่ายค่าส่วนกลางมากว่าเพื่อน จนเป็นเหตุให้คอนโดขาดสภาพคล่องที่จะมาบริหารจัดการ ไม่มีเงินจ่ายค่า รปภ. จนต้องเปลี่ยนบริษัท รปภ. เกือบทุก ๆ 3 เดือน ไม่มีเงินจ่ายค่าบริการบริษัทแม่บ้านจนต้องขอเลิกสัญญาแล้วโอนพนักงานของบริษัทแม่บ้านมาเป็นพนักงานของนิติบุคคล ไม่มีเงินมาซ่อมบำรุงระบบวิศวกรรมในอาคาร โดยเฉพาะระบบป้องกันและบรรเทาอัคคีภัยล้มเหลวหมดทั้งระบบ โดยที่ลูกบ้านไม่รู้ตัวเลยว่า ชีวิตกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย อยู่กันไปแบบเสี่ยงภัยโดยไม่รู้ตัว


บริษัทบริหารคอนโดก็เหมือนกัน ถ้าค้างชำระค่าบริการให้เขาเกิน 3 เดือนแบบนี้ เขาจัดเกรดอยู่ในกลุ่มหนี้เน่าครับ เป็นลูกค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่เขาจะขอเลิกสัญญาทันทีเหมือนกัน คอนโดที่ผมเคยดูแลอยู่ก็มีครับ ผมเข้ามาดูแลในช่วงหนึ่งก่อนที่มีเหตุบางประการที่จะต้องโยกย้ายไปดูแลอาคารอื่น พอผมเข้ามาดูแลผมก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคอนโดเพื่อให้รู้ที่มาที่ไป ก็ปรากฏว่าเป็นคอนโดที่ทำโครงการช่วงก่อนฟองสบู่แตก พอโครงการก่อสร้างเสร็จ(ด้วยความทุลักทุเล)ปุ๊บ ฟองสบู่ก็แตกปั๊บ


ตอนเริ่มแรกก็มีบริษัทรับจ้างเข้ามาบริหารได้ระยะหนึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง(อย่างรุนแรง)ก็คงขอถอนตัวออกไป บริษัทเจ้าของโครงการก็เลยเข้ามาบริหารเอง โดยการเปลี่ยนผู้จัดการนิติบุคคลจากบรัษัทบริหารเป็นคนที่ไว้ใจได้ของเจ้าของโครงการ แล้วก็เป็นมาจนถึงทุกวันนี้


การที่บริษัทเจ้าของโครงการเข้ามาบริหารนิติบุคคลอาคารชุดเอง โดยที่ไม่ได้แยกไปเป็นบริษัทลูกเหมือนบริษัทเจ้าของโครงการระดับมาตรฐานอื่น ๆ ตรงนี้บอกได้เลยว่าอันตรายและน่าเป็นห่วงมาก เหตุผลง่าย ๆ นะครับ ไม่มีคนกลางเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารครับ ถ้าจะมองในแง่น่าเห็นใจก็น่าเห็นใจนะครับ เขาอุตส่าห์กู้หนี้ยืมสินมาลงทุนทำโครงการเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท จะปล่อยในมันล้มหรือถูกยึดกิจการไปต่อหน้าต่อตาโดยที่ไม่ต่อสู้ปกป้องเลยก็ดูกระไรอยู่


แต่ผมกำลังคิดในมุมมองของคนกลางครับว่าการสร้างเอง ขายเอง บริหารเอง โดยไม่มีคนมาตรวจสอบถ่วงดุลแบบนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องรับประกันความเป็นมืออาชีพครับ ใครจะรับประกันว่าลูกบ้านจะได้รับการดูแลตามสิทธิที่ควรได้ครับ


อย่างไรก็ตามบริษัทเจ้าของโครงการที่ว่าก็บริหารนิติบุคคลเองมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี จนก่อนที่ผมจะเข้ามาก็มีบริษัทบริหารก่อนหน้าผม 1 บริษัทเพิ่งถอนตัวออกไป เหตุผลที่ถอนก็คือ ค้างค่าบริหารเกิน 3 เดือนเขาก็เลยขอถอน จนถอนไปแล้วกว่าจะมีเงินจ่ายค่าบริหารเขาก็ล่วงเลยมาอีกกว่า 3-4 เดือน แล้วระหว่างที่เจ้าของโครงการบริหารเขาได้จัดโครงสร้างองค์กรบริหารที่ประหลาดมาก คือให้ผู้จัดการทั่วไปของเขาซึ่งดูแลทางด้านงานขายโครงการมาควบคุมดูแลฝ่ายจัดการอาคาร (นิติบุคคล) ซึ่งก็หมายถึงควบคุมดูแลผู้จัดการอาคารด้วย จนพนักงานของนิติบุคคลทั้งช่าง ทั้งแม่บ้านหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นพนักงานของบริษัทเจ้าของโครงการตลอดมา ส่วนผู้จัดการทั่วไป She ก็ใหญ่คับคอนโดน่ะสิ!


นี่คือ ผู้ทรงอิทธิพลในประการที่สอง

SPECIAL REQUESTED ! ! !

ก่อนอ่านต่อหน้าอื่น อย่าลืมคลิกลิ้งค์โฆษณาหน้านี้ เพื่อสนับสนุนสปอนด์เซอร์บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น: