Real estate & condomanager community

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สามารถเปลี่ยนคณะกรรมการนิติฯ ด้วยเหตุผลใดบ้าง

คุณ condomanager คะ เพื่อนฝากถามมาค่ะว่า เราสามารถเปลี่ยนคณะกรรมการนิติฯได้ด้วยเหตุผลใดบ้าง ตอนนี้ลงความเห็นกันว่าคงต้องปลดเจ้าของโครงการออกจากคณะกรรมการฯให้ได้ แต่ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรน่ะค่ะ

มิถุนายน 17, 2009 12:33 ก่อนเที่ยง

ถ้าจะเอากันให้แฟร์ๆเลยก็คือ ควรจะมีตัวแทนจากเจ้าของโครงการเข้าร่วมเป็นกรรมการบ้างตามสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ คอนโดของคุณตามข้อมูลที่ให้มา สัดส่วนประมาณ 9:50 ห้องชุด( เจ้าของโครงการ: เจ้าของร่วม) ซึ่งคำนวณแล้วก็ประมาณ 1:5

กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คนแต่ไม่เกิน 9 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม(มาตรา 37 วรรค 1) กรณีคอนโดของคุณถ้าจะเอาตามสัดส่วนก็คือมีกรรมการ 6 ท่าน เป็นตัวแทนเจ้าของโครงการ 1 ตัวแทนเจ้าของร่วม 5 แต่จะทำงานลำบากเพราะบางทีโหวตลงมติอะไรบางอย่างอาจมีเสียงเท่ากัน คือ 3: 3

ตามธรรมเนียมปฏิบัติจำนวนกรรมการจึงมักจะเป็นเลขคี่ เผื่อมีบางทีการออกเสียงลงมติของกรรมการเท่ากัน ประธานก็จะทำหน้าที่ฟันธงว่าจะเอาแบบไหน ประธานโหวตเห็นด้วยกับฝ่ายไหนฝ่ายนั้นก็ชนะ คอนโดของคุณก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ท่าน หรือไม่เกิน 7 ท่าน กำลังดี สัดส่วนกรรมการก็น่าจะประมาณ 1:4 หรือ 2:5 (เจ้าของ:ลูกบ้าน)

ขั้นแรกผมว่าควรจะเจรจาก่อน โดยให้เหตุผลตามที่ผมอธิบาย คือควรมีจำนวนตัวแทนตามสัดส่วน ถ้าตกลงกันตามนี้ได้ ก็ให้กรรมการฝ่ายเจ้าของโครงการลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อที่ประชุมกรรมการฯ เพื่อให้เหลือ1 หรือ 2 คน ตามสัดส่วนที่ว่า แล้วผู้จัดการนิติบุคคลฯ ก็ทำหนังสือแจ้ง สนง. ที่ดินท้องถิ่นเพื่อทราบ สนง.ที่ดินก็จะประทับเลขที่รับเรื่อง เราก็ถ่ายสำเนาหนังสือที่มีเลขรับของสนง.ที่ดินมาเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อที่จะได้มีหลักฐานการลาออกอย่างสมบูรณ์แบบ

ทีนี้ถ้าเจรจาไม่สำเร็จก็ต้องถอดถอน ซึ่งมาตรา 37/3 ระบุไว้ว่า นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระ (กฎหมายกำหนดให้กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี (มาตรา 37 วรรค 2)) กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
1. ตาย
2. ลาออก
3. ไม่ได้เป็นบุคคลตามมาตรา37/1 (ว่าด้วยสิทธิ์ซึ่งเกิดจากความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีความเกี่ยวข้องกับผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิห้องชุด )หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 37/2 (ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามต่างๆของบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ)
4. ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติตามมาตรา 44 ให้พ้นจากตำแหน่ง (อันนี้แหละคือหมัดเด็ด )


ส่วนมาตรา 44 ก็ระบุว่า มติของที่ประชุมใหญ่ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม ( เฉพาะที่ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมนะครับ มาประชุมเท่าไรก็เอาเสียงส่วนใหญ่ตามนั้น ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของเจ้าของร่วมทั้งหมด )เว้นแต่ พรบ. นี้จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (คือ มาตรา 48 และ 49 กำหนดเสียงลงมติเฉพาะเป็นเรื่องๆไป)

อาจจะฟังดูน่าเวียนหัวหน่อยนะครับ ภาษากฎหมาย ! แต่ผมพยายามอธิบายปูพื้นฐานให้ก่อน เพื่อบอกวิธีปฏิบัติตามมา

ขั้นตอนการถอดถอนตามกฎหมายก็คือ ต้องจัดประชุมใหญ่วิสามัญครับ ทำหนังสือเชิญประชุมใหญ่ตามขั้นตอนที่เคยบอกไปแล้ว โดยระบุไว้ในวาระการประชุมในหนังสือเชิญประชุมใหญ่เพิ่มเติมเลยว่า (สมมุติว่าเรียกประชุมใหญ่วิสามัญพร้อมกับการปลดผู้จัดการนิติบุคคลฯ )
1.การพิจารณาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือบริหารคอนโด
2.การพิจารณาถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคล (คนเดิม)
3.การพิจารณาแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคล (คนใหม่)
4.การพิจารณาถอดถอนคณะกรรมการ (บางส่วน)
5.การพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ (เพื่อทดแทน)
6.การพิจารณาแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี
7.การขออนุมัติงบประมาณปี ปัจจุบัน ( เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาหรือบริษัทบริหารคอนโด และผู้ตรวจสอบบัญชี )

เพราะไหนๆก็จะต้องจัดประชุมใหญ่วิสามัญแล้วก็เอาให้ครบถ้วนทุกเรื่องแก้ปัญหาไปพร้อมๆกันเลย

ทีนี้การจะถอดถอนโดยอาศัยเสียงส่วนใหญ่ของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุม ก็ต้องอธิบายให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจในเหตุผล ซึ่งเท่าที่นึกออกตอนนี้ก็คือการอ้างเรื่องสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิอย่างที่ว่า ไม่น่าเกลียด หรือก้าวร้าวกันจนเกินไป

เราก็ต้องชี้แจงไปในทำนองว่า เราได้เจรจาเพื่อขอร้องให้เจ้าของโครงการเขาปรับสัดส่วนกรรมการแล้ว แต่เขาไม่เห็นด้วย เราก็เลยต้องมาขอมติจากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เพื่อพิจารณาว่ากรรมการฝ่ายเจ้าของโครงการควรจะลาออกเพื่อให้เหลือจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่ (อันนี้คือหมัดแย๊บ) ซึ่งเจ้าของร่วมส่วนใหญ่(ซึ่งล๊อบบี้มาแล้ว)ก็น่าจะเห็นคล้อยตามเรา เพราะมันมีเหตุผล แล้วถ้ากรรมการฝ่ายโครงการเขามีจิตสำนึกและรู้สึกละอายใจเขาก็จะประกาศลาออกเองต่อหน้าที่ประชุมใหญ่ ซึ่งอันนี้มีผลทันทีเพราะมีพยานรับรู้และจะต้องทำการบันทึกรายงานการประชุมใหญ่เป็นหลักฐานตามมา

แต่ถ้าฝ่ายโครงการเขาหนังเหนียวไม่ยอมลาออก ถึงตอนนี้ อารมณ์ของมวลชนก็จะยิ่งเห็นความไม่ชอบมาพากลมากยิ่งขึ้น ผู้ดำเนินการประชุมใหญ่ก็ต้องนำที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาวาระถอดถอนทันที (อันนี้คือหมัดน๊อค)ทีนี้อาจจะถอดถอนทั้งหมดเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ แล้วจึงเข้าสู่วาระแต่งตั้งเพื่อทดแทนต่อไป เฮ้อออ!!! แล้วกรรมการที่ถูกถอดถอนจากมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมนั้น หมดอนาคตเลยนะครับ ชีวิตนี้จะไปเป็นกรรมการคอนโดที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ( มาตรา 37/2(2) )

ที่ผมตอบมาทั้งหมดนี้คือโดยไม่ทราบนะครับว่าสัดส่วนกรรมการคอนโดของคุณปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้ามีกรรมการฝ่ายลูกบ้านมากกว่า ก็น่าจะพอทำงานกันได้ แต่ถ้าฝ่ายโครงการมากกว่าหรือไม่มีฝ่ายลูกบ้านเลยก็คงต้องจัดประชุมใหญ่วิสามัญอย่างที่ว่า

อีกวิธีหนึ่งก็คือ ล้างไพ่ครับ คือกรรมการตัวแทนจากทุกฝ่ายลาออกพร้อมกันหมด แล้วจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกันใหม่หมด ถ้ามั่นใจว่าคะแนนเสียงในมือมีมากพอ เราอาจจะได้กรรมการที่มาจากลูกบ้านทั้งหมดเลยก็ได้

แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเจ้าของโครงการตุกติกจริงๆ เขาคงไม่ยอมลาออกแน่นอน ไม่ว่าจะลาออกบางส่วนหรือลาออกทั้งหมด

อย่าลืมว่าเป้าประสงค์ในการบริหารคอนโดก็คือการอยู่ร่วมกันในสังคมคอนโดอย่างมีความสุข ไม่ต้องคอยเดินหลบเดินหลีกใครบางคนเนื่องจากเหม็นเบื่อน้ำหน้ากัน ลองคิดดูคนเคยมีปัญหาทางใจกัน อยู่ร่วมคอนโดเดียวกัน แล้วเกิดวันนึงเลิกงานแล้วขึ้นลิฟต์พร้อมกันตัวเดียวกัน เวลาอยู่ในลิฟต์ด้วยกันจะทำหน้ายังไงกันดี

ลองคุยกันก่อนดีมั๊ยครับ !


SPECIAL REQUESTED ! ! !

ก่อนอ่านต่อหน้าอื่น อย่าลืมคลิกลิ้งค์โฆษณาหน้านี้ เพื่อสนับสนุนสปอนด์เซอร์บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

8 ความคิดเห็น:

ohoaha1981 กล่าวว่า...

เรื่องที่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดก็คงพยายามให้เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำ เพราะก็คาดหวังสามัญสำนึกของผู้ร่วมเป็นคณะกรรมการนิติฯเช่นกันค่ะ ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการฯต้องล่มเพราะหนึ่งในคณะฯ(เจ้าของโครงการ) ไม่ยอมมาร่วมประชุม จึงเลื่อนไปอีกเพราะการประชุมนี้ต้องการคุยกับเจ้าของโครงการมากที่สุด (ประชุมตอนนี้ก็ต้องเรียกมาอยู่ดี) คาดหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นนะคะ แต่ต้องขอบคุณคุณ condomanager มากๆค่ะที่ให้คำแนะนำที่ดีทีเดียว

Condomanager กล่าวว่า...

แล้วสัดส่วนกรรมการคอนโดตอนนี้เป็นอย่างไรครับ

ohoaha1981 กล่าวว่า...

ขณะนี้กรรมการมี 7 ท่านค่ะ โดยจะมีเจ้าของโครงการเป็นหนึ่งในนั้น โดยตอนออกเสียงเลือกกันนั้นใช้วิธีให้ชั้นละ 1 คนค่ะ(คอนโดมี 7 ชั้น) เพื่อนดิฉันอีกห้องได้เป็น แต่เวลามีประชุมลูกบ้านบางส่วนรวมดิฉันด้วยจะขอเข้าร่วมประชุมเพื่อไปสังเกตการณ์น่ะค่ะ

อย่างไรเสียขอแอบบ่นกับคุณ condomanager นะคะ เพราะเพิ่งไปประชุมล่าสุดมาเพื่อเคลียร์ปัญหาต่างๆก่อนส่งมอบเงินส่วนกลางมาที่นิติฯ
เจ้าของโครงการนอกจากจะปฏิบัติการลับ ลวง พราง แล้วยังโกหก ปลิ้นปล้อน กะล่อน ได้อีก เพราะตอนประชุมพูดอย่าง นอกที่ประชุมพูดอย่าง(ป่วนนอกเกมส์) กลุ้มใจค่ะ ตอนนี้ก็ได้แต่ให้กำลังใจกันค่ะว่าเพื่ออนาคตที่ดี อดทนกันไว้นะเพื่อนๆ เฮ้อ -_-"

Condomanager กล่าวว่า...

ผมดูตัวเลขสัดส่วนกรรมการแล้วคิดว่าน่าจะบริหารได้ เพราะโครงสร้างกรมมการฝ่ายเจ้าของมีแค่คนเดียว มาตรา37/6กำหนดไว้ชัดเจนว่า การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก เราก็ใช้เสียงข้างมากของกรรมการฝ่ายลูกบ้านโหวตมติต่างๆ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้โดยไม่ยากครับ

ohoaha1981 กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ แล้วจะติดตามคุณ condomanager ต่อไปนะคะ
ป.ล.แอบเห็นบาง blog เอาบทความของคุณ condomanger ด้วยนะคะ

ohoaha1981 กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะ คุณ condomanager เวลามีปัญหาทีไรดิฉันคิดถึงคุณทุกทีเลยค่ะ
ตอนนี้บททดสอบคณะกรรมการฯมาถึงแล้วค่ะ เจ้าของโครงการทำแสบมากเลย (จำจนตายกรวดน้ำคว่ำขันกันไป) อยู่ๆก็บีบให้ผู้จัดการนิติ(นอมินี) ยาม ช่าง และ แม่บ้านลาออกในวันนี้ทันทีซะงั้น ตอนนี้ทีมงานเลยหายเกลี้ยง คณะกรรมการเพิ่งจะรับทราบก็วันนี้ค่ะ ชัดเจนมากค่ะกลั่นแกล้งกันเห็นๆ เฮ้อ อยากจะร้องไห้ค่ะ ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะเจอคนที่เห็นแก่ตัวเองได้ขนาดนี้

Condomanager กล่าวว่า...

ลองตรวจสอบดูนะครับว่า ผู้รับจ้างที่ถูกบีบให้ลาออกนั้นเป็นคู่สัญญากับใคร ถ้าเป็นคู่สัญญากับเจ้าของโครงการก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะบอกเลิกได้ ซึ่งคู่สัญญาถ้าได้รับความเสียหายก็ไปเรียกร้องกับเจ้าของโครงการเอาเอง

แต่ถ้าเป็นคู่สัญญาของนิติบุคคลฯ การเลิกจ้างต้องเป็นมติของคณะกรรมการนะครับ แม้แต่ผู้จัดการนิติก็ไม่มีอำนาจที่จะทำโดยพละการ ยกเว้นคู่สัญญาจงใจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกับนิติฯ เท่านั้น

บาง blog ที่ว่า ถ้าเป็นที่ oknation ก็เป็นของผมเอง เพราะอยากเผยแพร่บทความให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น oknation ค่อนข้างจะเป็น open area มากกว่า เท่านั้นเองครับ แต่ถ้าเป็นที่อื่นไม่ทราบจริงๆครับ

ohoaha1981 กล่าวว่า...

สำหรับปัญหาที่ได้เล่าให้ฟังตอนนี้ก็ต้องประคองกันไปให้ตลอดรอดฝั่งค่ะ ช่วงนี้อาจของดเล่าเรื่องในคอนโดสักพัก เพราะไม่รู้ว่าต่อจากนี้ที่เวลาของการโอนเริ่มงวดเข้ามาจะมีเรื่องแจ็กพ็อตอะไรหรือไม่ ถ้ามีก็อาจมีถึงมือกฎหมาย ถ้าเรื่องเคลียร์ได้เมื่อไหร่คงได้ตั้งกระทู้เล่าเป็นวิทยาทานให้กับเพื่อนในเวปประกาศ กับห้องชายคาค่ะ
แต่ยังคงติดตามทุกวันนะคะ เปิดดูอัพเดตตลอด
สำหรับ blog ที่ไปเห็นมาไม่ใช่ oknation ค่ะ เข้าใจว่าคนโพสต์คงเห็นว่าบทความดีมากกว่า เพราะในบทความก็มีชื่อคุณ condomanager อยู่ด้วย แต่อาจจะไม่ให้เครดิตมายัง blog นี้
oknation ใช้ชื่อว่าอะไรคะ ว่างๆจะเข้าไปชมบ้าง หุหุุ