ผมมีเจ้าของร่วมท่านหนึ่ง เขียนมาพูดคุยเรื่องปัญหาในคอนโดของท่าน ผมเห็นว่ากรณีของท่านผู้นี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ ซึ่งเจ้าตัวท่านก็อนุญาตแล้ว ลองอ่านกันดูนะครับ ส่วนท่านผู้อ่านท่านใดที่มองกรณีศึกษานี้แล้ว อาจมีช่องทางหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่า ก็ขอเรียนเชิญ post เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันนะครับ ช่วยๆกันคนละไม้ละมือ สังคมคอนโดของประเทศไทย จะได้พัฒนาทัดเทียมนานาอารยกันซะที
Date: Mon, 21 Sep 2009 00:23:04 +0700
Subject: รบกวนสอบถามเกี่ยวกับปัญหาคอนโดครับ
From: mrlapas@gmail.com
To: condo.mgr@hotmail.com
สวัสดีครับ ตอนนี้ผมเจอปัญหาเกี่ยวกับคอนโดที่อาศัยอยู่และมีพี่แนะนำให้อ่าน blog Condomanager เลยอยากรบกวนขอคำปรึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยครับ
ก่อนอื่นก็คงต้องเกริ่นเกี่ยวกับต้นตอของปัญหาก่อนนะครับ คือคอนโดผมพึ่งเริ่มเข้าอยู่ได้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็พึ่งมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการนิติบุคคลและผู้จัดการนิติเมื่อปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลการเลือกตั้งนั้นทางเจ้าของโครงการได้ใช้สิทธิที่ตัวเองมีอยู่ในมือประมาณ 47% เลือกคนของตัวเองทั้งหมดเป็นทั้งกรรมการนิติฯ รวมไปถึงตัวผู้จัดการนิติด้วย ซึ่งตัวแทนที่เลือกมานี้จะเริ่มเข้ามาจัดการบริหารคอนโด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาคือทางผู้จัดการนิติฯ ได้ดำเนินการเอาเงินส่วนกลางไปเปิดร้านกาแฟและ fitness ซึ่งเดิมทางโครงการเคยแจ้งว่าจะให้บุคคลภายนอกเข้ามาเช่าดำเนินการ แต่พอมีการไปสอบถามได้ความว่าทางผู้จัดการนิติฯ ได้นำเงินส่วนกลางไปใช้เช่าพื้นที่การค้าซึ่งปัจจุบันเจ้าของโครงการยังคงถือสิทธิเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ โดยจะมีการทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อเปิดร้านกาแฟและ fitness ต่อเดือนเป็นเงินหนึ่งแสนกว่าบาทเป็นระยะเวลาครึ่งปี และยังมีค่าใช้จ่ายในการตกแต่งร้านกาแฟและอุปกรณ์สำหรับห้อง fitness ซึ่งก็ใช้เงินส่วนกลางอีกเช่นกัน และทั้งร้านกาแฟและ fitness นั้นก็มีการเก็บค่าบริการในอัตราที่ค่อนข้างแพง จึงอยากจะเรียนสอบถามขอคำแนะนำว่าทางพวกผมที่เป็นเจ้าของร่วมจะสามารถยับยั้งการกระทำของผู้จัดการนิติได้หรือไม่ เท่าที่ผมคิดได้ก็มีแต่การรวมเสียงเจ้าของร่วมให้ได้ แต่คอนโดผมมีประมาณ 600 ห้องและบางส่วนเจ้าของโครงการก็ถือห้องขนาดใหญ่ ๆ ไว้ ทำให้การรวมเสียงทำได้ยากพอสมควร และที่การประชุมครั้งแรกเจ้าของโครงการสามารถใช้เสียงตัวเองคุมผลการเลือกตั้งได้ ก็เพราะมีการจัดประชุมแบบกระทันหัน ทำให้คนเข้าร่วมประชุมไม่มาก แต่เจ้าของโครงการใช้สิทธิของตัวเองทำให้เปิดประชุมได้
ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำนะครับ
ลูกบ้านตัวเล็กๆ
From:condo.mgr@hotmail.com
Sent:Monday, September 21, 2009 1:55:06 PM
To: mrlapas@gmail.com
สวัสดีครับคุณ lapas นี่คือปัญหา classic ของคอนโดส่วนใหญ่ในเมืองไทย เพราะฉะนั้น การที่เจ้าของคอนโดซักโครงการหนึ่ง จะพัฒนาทีดินเพื่อสร้างคอนโดขายต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมเงินไว้สำหรับบริหารจัดการ โดยเฉพาะห้องชุดที่ตัวเองถือกรรมสิทธิ์คือขายไม่ออก อย่างน้อยก็ประมาณ 30 - 40% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมด กว่าจะขายหมดก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างแต่จากประสบการณ์ของผม ไม่เคยเห็นคอนโดโครงการไหนที่ขายได้ 100 % ส่วนใหญ่จะเหลือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโครงการประมาณ 20 - 30% ซึ่งเจ้าของโครงการที่มีกึ๋น - มีกำลังหน่อย เขาก็จะบริหารทรัพย์สิน(ห้องชุด)ในกรรมสิทธิ์ของเขาให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นบางรายก็ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำเซอร์วิส อพาร์ทเม้นต์ เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเลย บางรายมีกึ๋น แต่ไม่มีกำลังก็ปล่อยให้มันเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลาครับ
แล้วส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นกับคอนโดที่เจ้าของเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก เงินทุนหมุนเวียนน้อยส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ เขาจะแคร์เรื่องชื่อเสียงมาก การส่งมอบอำนาจการบริหารจัดการมาให้นิติบุคคลฯเขาจะทำทุกอย่าง ถูกต้องตามกฎหมาย เงินกองทุนหรือเงินค่าส่วนกลาง เขาจะจ่ายจนครบถ้วนไม่ให้ติดค้างและที่สำคัญ เขาพยายามเลี่ยงที่จะเข้ามาข้องแวะกับการบริหารอาคารชุดเพราะไม่ใช่อาชีพของเขา เขาถนัดสร้างคอนโดแล้วขาย เก็บตังค์เข้ากระเป๋าแล้วรีบเผ่นดีกว่า
ปัญหาของคุณ Lapas ขอตอบทีละประเด็น แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับศัพท์แสงทางกฎหมายคอนโด ( พรบ. อาคารชุด 2551 ) มากหน่อย ตามนี้นะครับ
และที่การประชุมครั้งแรกเจ้าของโครงการสามารถใช้เสียงตัวเองคุมผลการเลือกตั้งได้ ก็เพราะมีการจัดประชุมแบบกระทันหัน ทำให้คนเข้าร่วมประชุมไม่มาก แต่เจ้าของโครงการใช้สิทธิของตัวเองทำให้เปิดประชุมได้
อันดับแรกต้องตรวจสอบก่อนว่า การประชุมใหญ่ครั้งแรกที่ว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่กฎหมายคอนโดกำหนดไว้ว่า
ก. "ให้ผู้จัดการ(นิติบุคคล)จัดให้มีประชุมใหญ่ โดยถือว่าเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อแต่งตั้งกรรมการ และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับ ฯลฯ " (มาตรา 42 )
ข. "การเรียกประชุมใหญ่ต้องทำเป็นหนังสือนัดประชุม ระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร และจัดส่งให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่า เจ็ดวันก่อนการประชุม" ( มาตรา 42/3 )
ค. "เจ้าของร่วมอาจมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนตนได้ แต่ผู้รับมอบฉันทะคนหนึ่ง จะรับมอบฉันทะให้ออกเสียงในการประชุมครั้งหนึ่งเกินสามห้องชุดมิได้" (มาตรา47 )
ผมอยากให้พิจารณาข้อความที่เน้นตัวเอียงนะครับ จะเห็นว่าส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับตัวเลขจากการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆที่ให้มา ผมเห็นว่าคงจะต้องมีการตรวจสอบว่าการประชุมใหญ่ครั้งแรกของคอนโดของ คุณlapas มีองค์ประกอบครบถ้วนและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทุกอย่างที่เขาดำเนินการมาตั้งแต่ต้นก็ถือเป็นโมฆะนะครับส่วนจะเอาเรื่อง เอาราว เอาผิดตามกฎหมายหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าของร่วมรายอื่นๆครับ
ลองเช็คดูว่า เขาจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดวันที่เท่าไร แล้ววันที่จัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกที่ว่า เรียกประชุมภายในหกเดือนตามกฎหมายกำหนดหรือเปล่า ถ้าเกินกำหนดตามกฎหมายก็ต้องถือเป็นโมฆะครับ
หรือลองเช็คดูว่า เขาได้ทำหนังสือเชิญประชุมอย่างเป็นทางการหรือเปล่า ที่สำคัญ เจ้าของร่วมทุกคนได้รับหนังสือเชิญประชุม (ถึงมือหรือถึงที่อยู่ที่ระบุไว้) 7 วัน ก่อนวันประชุมหรือเปล่าเพราะเห็นคุณบอกว่า จัดประชุมแบบกระทันหัน ไม่แน่ใจว่ากระทันหันขนาดไหนแต่ถ้าได้รับหนังสือเชิญประชุมก่อน 7 วัน ก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมายครับ
สุดท้ายคือ ลองเช็คดูว่า การที่เขาถือกรรมสิทธิ์ 47% จาก 600 ห้องชุด ก็น่าจะถือครองอยู่ประมาณ 280 ห้อง เขาได้มอบฉันทะให้ผู้อื่น หรือว่าเขามาลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมใหญ่ด้วยตนเองถ้าเขามอบฉันทะให้บุคคลอื่นมา ตามกฎหมายแล้ว 1 คน รับมอบได้ไม่เกิน 3 ห้องชุดเพราะฉะนั้น เขาจะต้องหาคนมารับมอบฉันทะ 280 / 3 = ประมาณ 93 -94 คน เป็นไปตามนี้หรือเปล่าแต่ถ้ากรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเจ้าของโครงการ มาลงทะเบียนร่วมประชุมด้วยตัวเอง อันนี้ก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย
แต่พอมีการไปสอบถามได้ความว่าทางผู้จัดการนิติฯ ได้นำเงินส่วนกลางไปใช้เช่าพื้นที่การค้าซึ่งปัจจุบันเจ้าของโครงการยังคงถือสิทธิเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ โดยจะมีการทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อเปิดร้านกาแฟและ fitness ต่อเดือนเป็นเงินหนึ่งแสนกว่าบาทเป็นระยะเวลาครึ่งปี และยังมีค่าใช้จ่ายในการตกแต่งร้านกาแฟและอุปกรณ์สำหรับห้อง fitness ซึ่งก็ใช้เงินส่วนกลางอีกเช่นกัน และทั้งร้านกาแฟและ fitness นั้นก็มีการเก็บค่าบริการในอัตราที่ค่อนข้างแพง
ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมตอบตามข้อมูลที่คุณ lapas ให้มานะครับ ตามข้อมูลดังกล่าวมีประเด็นต้องพิจารณาดังนี้ครับ
1. ห้องหรือพื้นที่ ที่ทำสัญญาเช่า ในข้อบังคับของคอนโด กำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับทำการค้าหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ผิดข้อบังคับ ก็คือผิดกฎหมายครับ (มาตรา 17/1 )
2. ผู้จัดการนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ ( เป็นอย่างน้อยครับ ) ( มาตรา 36) - ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด คือเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง (ตามมาตรา 33) - ปฏิบัติการตามข้อบังคับ - ปฏิบัติการตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม หรือคณะกรรมการ ทั้งนี้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
3. เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง ตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ ฯลฯ (มาตรา18)
ทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวถึง อยากขอให้ตรวจสอบนิดนึงว่า การที่ผู้จัดการนิติบุคคล ปฏิบัติการลักษณะนั้น ทำตามความคิดตัวเองหรือทำตามมติกรรมการ ( คือ มีการจัดประชุมกรรมการ แล้วกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระพิจารณา แล้วลงมติอนุมัติพร้อมกับบันทึกรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่)
ผมกำลังพยายามอธิบายว่า จะมีหรือไม่มีมติกรรมการมารองรับ ก็ผิดกฎหมายทั้งคู่ เพราะเป็นการใช้เงินส่วนกลางผิดวัตถุประสงค์ ( ตามข้อ 3 )เพราะกฎหมายกำหนดให้ใช้เงินส่วนกลาง เพื่อดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางที่มีอยู่ ไม่ได้ให้อำนาจผจก. หรือ กก. ในการใช้เงินส่วนกลางเพื่อแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้น นิติบุคคลอาคารชุดจัดเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ( Non profit organization ) ลักษณะเดียวกันกับวัด มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ไม่ต้องยื่นงบดุลประจำปี เพื่อประกอบการเสียภาษี
มาตรา 33 กำหนดไว้ชัดเจนว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดังนั้น การนำเงินส่วนกลางไปเช่าพื้นที่ หรือตกแต่งร้านกาแฟหรือฟิตเนส ก็เป็นการใช้เงินส่วนกลางผิดวัตถุประสงค์ คือไม่นำไปใช้เพื่อการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางอีกทั้งการเปิดกิจการดังกล่าว ก็เป็นการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์เพื่อแสวงหากำไร ผิดกับวัตถุประสงค์ตามกฎหมายของนิติบุคคลอาคารชุด
จึงอยากจะเรียนสอบถามขอคำแนะนำว่าทางพวกผมที่เป็นเจ้าของร่วมจะสามารถยับยั้งการกระทำของผู้จัดการนิติได้หรือไม่
อันดับแรก ขอให้แต่งตั้งตัวแทนขึ้นมา 1 ท่าน (ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดนะครับ) ทำหนังสือขอให้ผู้จัดการนิติบุคคลชี้แจงที่มาที่ไปของการกระทำดังกล่าวว่ามีความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
อันดับที่สอง ก็คือรวบรวมเสียงเจ้าของร่วมให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20% ของเจ้าของร่วมทั้งหมด เพื่อลงลายมือชื่อทำหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการ เพื่อขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญคณะกรรมการต้องจัดให้มีประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 15 วัน ไม่มีข้ออิดออด เพราะกฎหมายกำหนดไว้ ถ้าจัดประชุมใหญ่วิสามัญได้ ก็ขอให้มีการแต่งตั้งกรรมการฝ่ายลูกบ้านเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนผู้จัดการนิติบุคคล คนใหม่ อาจจะใช้บริษัทรับจ้างเข้ามาเป็นผจก. ก็ได้ โดยอันหลังนี้ต้องมีคะแนนเสียงเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 25 % ของเจ้าของร่วมทั้งหมดนะครับ
อันดับสุดท้ายเลย ถ้าเห็นว่ารับพฤติกรรมไม่ได้จริงๆ หรือพยายามพูดคุย หรือขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญแล้วไม่สำเร็จ ก็ขอให้พึ่งศาลสถิตย์ยุติธรรมก็แล้วกันครับคือจ้างทนายความฟ้อง ผจก. และ กก. ข้อหาละเมิด พรบ.อาคารชุด ส่วนจะเข้าข่ายละเมิดข้อไหนบ้าง ก็ปรึกษาทนายความดูนะครับ
ก็หวังว่าคำตอบของผมจะเป็นประโยชน์กับทุกๆท่านครับ
ขอบคุณครับ
ผู้จัดการคอนโด
Date: Mon, 21 Sep 2009 16:43:07 +0700Subject:
Re: รบกวนสอบถามเกี่ยวกับปัญหาคอนโดครับ
From: mrlapas@gmail.com
To: condo.mgr@hotmail.com
ขอบคุณมาก ๆ ครับสำหรับข้อมูลและคำแนะนำ ตอบให้ละเอียดมาก ๆ เลย จากที่ทางคุณ condomanager ถามว่าทางโครงการได้ทำหนังสือเชิญประชุมอย่างเป็นทางการหรือเปล่า คิดว่าคงไม่น่าเป็นทางการ เพราะใช่วิธีส่งเข้าตู้จดหมายของแต่ล่ะห้องที่อยู่ชั้นแรกของตัวคอนโด ไม่ได้มีการส่งเป็นจดหมายที่แต่ละคนจะต้องเซ็นรับ เพียงแต่หัวหนังสือลงวันออกจดหมายที่เป็นวันก่อนหน้าวันประชุม 7 วันพอดี แต่ตัวจดหมายนั้นมาสอดเข้าตู้จดหมายเพียง 3 วันก่อนการประชุม แต่ถ้าจะเอาผิดผมเองก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปอ้างอิงคำพูดของผม ส่วนเรื่องการจัดประชุมภายในหกเดือนผมคงต้องลองไปเช็คข้อมูลดู แต่เรื่องตัวแทนนี่ทางโครงการทำถูกกฏหมายครับเพราะประธานบริษัทมาร่วมประชุมเองเลยครับ เลยออกเสียงได้เต็ม 47 % ที่มี ส่วนคำแนะนำเรื่อง fitness กับร้านกาแฟ ผมคงต้องไปคุยกับเพื่อน ๆ ลูกบ้านด้วยกันว่าจะทำอย่างไรกันต่อ ขอบคุณมาก ๆ สำหรับความช่วยเหลือนะครับ ถ้ามีคำถามเพิ่มเติมอาจจะต้องขอรบกวนอีกครั้ง
From:condo.mgr@hotmail.com
Sent:Monday, September 21, 2009 8:13:12 PM
To: mrlapas@gmail.com
ปกติแล้วถ้าเป็นวิธีการทำงานของมืออาชีพ เขาจะส่งจดหมายเชิญประชุมทางจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับ ล่วงหน้าก่อนวันกำหนดประชุมประมาณ 15 วัน เพื่อใช้วันที่ประทับตราของ ปณ. เป็นหลักฐานว่า เจ้าของร่วมได้รับหนังสือเชิญล่วงหน้า7 วันก่อนวันประชุมตามกฎหมาย
ลองดูวันที่ที่ลงในหนังสือเชิญให้ดีดีนะครับ
วันที่ที่ลงในหนังสือเชิญ ต้องมีระยะเวลาห่างจากวันกำหนดประชุมอย่างน้อย 8 วันครับ ถึงจะเป็นการจัดส่งให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่า 7 วันตามกฎหมายเพราะตามกฎหมายวันที่กำหนดเป็นวันประชุม นับเป็นวันที่ 8 นะครับ
คำว่าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม หมายถึงให้นับจากวันกำหนดประชุมถอยมา 7 วัน เช่น กำหนดประชุมวันอาทิตย์ที่ 27 กย. 52
การนับ 7 วันถอยหลังก็คือนับวันเสาร์ที่ 26 กย. 52 เป็นวันที่ 7 , ศุกร์ที่ 25 = 6, พฤหัสที่ 24 = 5 , พุธที่ 23 = 4 , อังคารที่ 22 = 3 , จันทร์ที่ 21 = 2 , อาทิตย์ที่ 20 = 1
เพราะฉะนั้น หนังสือเชิญประชุมที่ถูกต้องคือ ต้องลงวันที่อย่างน้อย คือวันเสาร์ที่ 19 กย. 52 นะครับ ถึงจะเข้าเงื่อนไข " ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม"ถ้าลงวันที่ในหนังสือเป็น 20 กย. 52 แบบนี้ กฎหมายนับเป็น 6 วันก่อนวันประชุมครับ
ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า หนังสือเชิญประชุมลงวันที่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุมอย่างที่ว่าหรือกรณีของคุณที่เล่ามาว่า หยอดตู้รับจดหมายก่อนประชุม 3 วัน หาพยานหรือหลักฐานมาพิสูจน์ได้หรือเปล่าครับถ้าหาได้ ขอให้รวบรวมเอกสาร+พยาน+หลักฐาน เพื่อประกอบการทำหนังสือขอคัดค้านการจดทะเบียนผู้จัดการนิติบุคคลและคณะกรรมการไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน ( หัวหน้าสำนักงานที่ดิน ) ท้องที่ประเด็นที่คัดค้านก็คือว่า การแต่งตั้ง ผจก. และ คณะกรรมการ จากที่ประชุมใหญ่ครั้งแรกดังกล่าว มิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจาก จัดส่งหนังสือเชิญประชุมใหญ่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม เป็นการละเมิดต่อ พรบ. อาคารชุด พ.ศ. 2551 มาตรา 42/3
ถ้าเจ้าพนักงานที่ดิน พิสูจน์แล้วเห็นว่า คำคัดค้านมีมูล ก็จะปฏิเสธการจดทะเบียน ผจก. และ กก. เพราะจดไปก็ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะมีความผิดเสียเองแล้วเจ้าพนักงานก็จะมีคำสั่งให้มีการจัดประชุมใหม่ เป็นการประชุมใหญ่วิสามัญไป ผจก. และ กก. ชุดนี้ก็เป็นอันต้องสิ้นสุดสถานภาพลงโดยปริยายครับ
ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้คาดเดานะครับ แต่เป็นประสบการณ์จริง เหตุการณ์จริง ที่บริษัทที่ผมทำงานเจอมากับตัวเองนี่คือที่มาของการต้องกำหนดเป็นมาตรฐานการทำงานว่า จะต้องส่งหนังสือเชิญประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ลองตรวจสอบดูนะครับ
ผู้จัดการคอนโด
Real estate & condomanager community
วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น