Real estate & condomanager community

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ทำไมเจ้าของห้องชุดต้องเสียค่าเช่าที่จอดรถให้นิติฯด้วย ?



ดีเลยงั้นขอถามคุณผู้จัดการคอนโดหน่อยนะคะว่า

คอนโดสุขุมวิทติดรถไฟฟ้าเป็นคอนโดเก่ากว่าสิบปี
บางห้องหรือหลายห้องไม่มีที่จอดรถแบบประจำให้ จะจอดเวียนก็ไม่ได้
ต้องเช่ากับทางนิติเอง อยากทราบว่าทำไมที่จอดรถคอนโดก็ต้องเยอะแต่ท่ำไมเจ้าของห้องชุด
ต้องมาเช่าที่จอดรถเสียเงินอีกทุกเดือน
ทางนิติแจ้งว่าไม่มีนโยบายขายพื้นที่ช่องที่จอดรถด้วย
อยากทราบว่าคนที่อยู่ที่นี่ต้องยอมรับนโยบายเช่าที่จอดกันด้วยเหรอคะสำหรับคน
ที่ไม่มีระบุที่จอดประจำในโฉนดน่ะค่ะ
เพราะถ้าใครมีที่จอดรถเขาจะระบุเลยในโฉนดว่าที่จอดประจำคือตรงไหน
พอดีสนใจถ้าไปซื้อห้องนี้ต่อต้องทำอย่างไรดี ไปต่อรองอะไรจะได้ไหมคะ

ขอบคุณค่ะ


ตอบคุณ ขอบคุณค่ะ

ปัญหาที่จอดรถในคอนโดดูเหมือนจะเป็นปัญหาคลาสสิกคล้ายกับปัญหาเรื่องเลี้ยงสุนัข แต่ไม่ปวดหัวเท่า

ปกติที่จอดรถถ้ามีการระบุไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ( อช.2 ) (ก็คือโฉนดที่คุณเรียกนั่นแหละ )ว่าเป็นส่วนควบแล้วละก็ เจ้าของห้องชุดก็จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในช่องจอดด้วย แต่ถ้าไม่มี ผู้มีสิทธิ์จอดก็มีฐานะเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองที่จอดรถเท่านั้นเอง สิทธิ์ในการครอบครองนี้ได้มาจากการที่เจ้าของโครงการเสนอให้ลูกค้าเลือกแล้วก็ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย แบบว่า มาก่อนเลือกก่อน แต่อย่างไรก็ตามขอยืนยัน นอนยันเลยนะครับว่า พื้นที่จอดรถ(ที่ไม่ระบุกรรมสิทธิ์ใน อช.2)เป็นพื้นที่ส่วนกลาง นิติบุคคลจะใช้มติที่ประชุมใหญ่ตามกฎหมายเรียกคืนแล้วจัดระเบียบใหม่เมื่อไรก็ได้ ( ถ้ามีเสียงลงมติเพียงพอ )

คอนโดบางที่ก็มีพื้นที่จอดรถ 2 แบบ คือช่องจอดแบบแรกคือจอดตามสิทธิ์ครอบครอง มีการระบุไว้ชัดเจนห้องนี้จอดช่องไหน ส่วนห้องที่มีรถเกินช่องจอด คือ 2 คันขึ้นไป เขาก็จะมีช่องจอดรถส่วนกลางของนิติฯ ไว้บริการ คอนโดประเภทนี้จะมีลักษณะประมาณว่าวางแผนมาดี ปลูกสร้างในที่ที่มีบริเวณเยอะ ประเภทว่าเป็นทุ่งนาเก่าชานเมือง อะไรประมาณนั้น อาคารจอดรถจะแยกออกจากอาคารพักอาศัยออกไปต่างหากก็เลยไม่มีปัญหาเรื่องช่องจอดรถ

ส่วนใหญ่คอนโดในเมืองจะมีช่องจอดรถที่ค่อนข้างจะ Fix การเก็บค่าเช่าที่จอดรถ เป็นข้อกำหนดของคอนโดแต่ละแห่งครับ อันนี้ต้องไปดูโน่นเลยครับ ข้อบังคับของคอนโดของคุณเองว่า กำหนดเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร ถ้าเป็นข้อบังคับก็แก้ไขยากหน่อย คือต้องใช้มติที่ประชุมใหญ่เสียงไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่ง ( 50% ) ของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด (นัดแรก ) หรือ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในการเรียกประชุมนัดที่ 2 ตามมาตรา 48 (4)ของกฎหมายอาคารชุดที่กำหนดไว้ให้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้หรือการจัดการทรัพย์ส่วนกลาง ต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ด้วยคะแนนเสียงดังกล่าว

แต่ถ้าเป็นแค่มติคณะกรรมการฯ อันนี้ก็ค่อยยังชั่วหน่อย ก็สามารถขอแก้ไขมติโดยใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมกรรมการฯได้เลย อาจเป็นไปได้ว่า โครงการเก่าจดทะเบียนนิติบุคคลมานานหลายปี บางทีเจ้าของโครงการหรือกรรมการก็อาจจะกำหนดขึ้นมา โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ได้ ผิดพลั้งไป

ลองไปเช็คดูนะครับว่า ตอนเริ่มเก็บค่าเช่าที่จอดรถน่ะ ที่มามันมาได้อย่างไร เป็นระเบียบข้อบังคับหรือเปล่า ถ้าใช่แล้วข้อบังคับที่ว่านี้มันมาอย่างถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่ถูกต้องวิธีการก็คือตามที่บอกครับ


SPECIAL REQUESTED ! ! !

ก่อนอ่านต่อหน้าอื่น อย่าลืมคลิกลิ้งค์โฆษณาหน้านี้ เพื่อสนับสนุนสปอนด์เซอร์บ้างนะครับ

ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น: